ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5
ข่าวปลอม (เฟคนิวส์)
วันที่อัพเดทล่าสุด : 26.03.2566
...............ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนที่ใช้สื่อออนไลน์ (Website, E-mail, Line, Facebook, IG เป็นต้น) เรื่อง “ข่าวปลอม (เฟคนิวส์)” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14 – 16 สิงหาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,522 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการหลงเชื่อการกระทำกับข่าวปลอม (เฟคนิวส์) ที่ได้รับจากสื่อออนไลน์ ความคิดเห็นและความกังวลต่อการจัดตั้ง “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
...............จากการสำรวจ เมื่อถามถึงการใช้สื่อออนไลน์ (Website, E-mail, Line, Facebook, IG เป็นต้น) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.86 ระบุว่า ใช้สื่อออนไลน์ และร้อยละ 27.14 ระบุว่า ไม่ใช้สื่อออนไลน์
...............เมื่อถามผู้ที่ใช้สื่อออนไลน์ว่าหลงเชื่อข่าวปลอม (เฟคนิวส์) ที่ได้รับจากสื่อออนไลน์หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.23 ระบุว่า ไม่เคยหลงเชื่อในข่าวปลอม รองลงมา ร้อยละ 27.59 ระบุว่า เคยหลงเชื่อในข่าวปลอม และร้อยละ 11.18 ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่.และเมื่อถามผู้ที่ระบุว่าเคยหลงเชื่อและไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวปลอม (เฟคนิวส์) จากสื่อออนไลน์ ว่ากระทำอย่างไรกับข่าวปลอม (เฟคนิวส์) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.09 ระบุว่า ไม่เคยแชร์ข่าวใด ๆ รองลงมา ร้อยละ 24.42 ระบุว่า รู้ว่าเป็นข่าวปลอม และไม่แชร์ ร้อยละ 19.07 ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ จึงไม่แชร์ ร้อยละ 9.77 ระบุว่า เฉย ๆ เมื่อรู้ว่าข่าวที่แชร์ไปเป็นข่าวปลอม ร้อยละ 6.28 ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ แต่แชร์ ร้อยละ 4.88 ระบุว่า ไม่รู้ว่าเป็นข่าวปลอม และแชร์ ร้อยละ 3.49 ระบุว่า รู้ว่าเป็นข่าวปลอม แต่แชร์ ร้อยละ 0.70 ระบุว่า เคยทำข่าวปลอม และแชร์ ร้อยละ 0.47 ระบุว่า พยายามแก้ปัญหาเมื่อรู้ว่าข่าวที่แชร์ไปเป็นข่าวปลอม และร้อยละ 0.23 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ อ่านโดยใช้เหตุผลในการวิเคราะห์ว่าเป็นข่าวปลอมข่าวจริง
...............สำหรับความคิดเห็นของผู้ที่ระบุว่าเคยหลงเชื่อและไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวปลอม (เฟคนิวส์) จากสื่อออนไลน์ ต่อการจัดตั้ง “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.98 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้มีการกลั่นกรองข่าวก่อนที่จะแพร่หลายไปวงกว้าง เพราะสมัยนี้มี E-mail, Line, Facebook, IG เป็นต้น เกือบทุกคน จะได้มีการเกรงกลัวและไม่แชร์ข่าวปลอม รองลงมา ร้อยละ 8.14 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ควรใช้วิธีอื่นดีกว่า เช่น สร้างจิตสำนึกหรือให้ความรู้ การจัดตั้งศูนย์ฯ อาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป และควรให้องค์กรอิสระเข้ามาจัดการมากกว่า และร้อยละ 4.88 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ
...............ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความกังวลของผู้ที่ระบุว่าเคยหลงเชื่อและไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวปลอม (เฟคนิวส์) จากสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับ “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” ที่อาจจะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 28.84 ระบุว่า ไม่มีความกังวลเลย รองลงมา ร้อยละ 28.14 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกังวล ร้อยละ 27.91 ระบุว่า ค่อนข้างมีความกังวล ร้อยละ 10.00 ระบุว่า มีความกังวลมาก และร้อยละ 5.11 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ
ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5