ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5
ความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทยกับการรับมือโรคโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่
วันที่อัพเดทล่าสุด : 26.03.2566
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทยกับการรับมือโรคโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่” ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 20-23 ธันวาคม 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,314 หน่วยตัวอย่าง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ของรัฐบาลตั้งแต่มีการแพร่ระบาดจนถึงปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 40.03 ระบุว่า ค่อนข้างพึงพอใจ เพราะประชาชนได้วัคซีนอย่างทั่วถึง มีมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเข้มงวด สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 รองลงมา ร้อยละ 28.08 ระบุว่า ไม่ค่อยพึงพอใจ เพราะการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การจัดสรรวัคซีนที่ล่าช้า การนำวัคซีนที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมาฉีดให้แก่ประชาชน ร้อยละ 16.97 ระบุว่า พึงพอใจมาก เพราะมีมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเข้มงวด มีการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 และร้อยละ 14.92 ระบุว่า ไม่พึงพอใจเลย เพราะการบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ การบริหารวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ล่าช้า วัคซีนไม่มีคุณภาพ มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ
ด้านความเชื่อมั่นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของรัฐบาลในอนาคต พบว่า ร้อยละ 36.76 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะมาตรการป้องกันไม่เข้มงวด การนำวัคซีนที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมาฉีดให้แก่ประชาชน โรคโควิด 19 มีการกลายพันธ์อย่างต่อเนื่อง รองลงมา ร้อยละ 32.50 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น เพราะรัฐบาลสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดสรรวัคซีนให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง ร้อยละ 18.19 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย เพราะการบริหารไม่มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาล่าช้า มาตรการไม่เข้มงวด การบริหารวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 12.55 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก เพราะมาตรการป้องกันมีความการชัดเจนและเข้มงวด มีการจัดสรรวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง สถานการณ์ภายในประเทศดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง
สำหรับความกังวลต่อโรคโควิด 19 สายพันธุ์ “โอมิครอน (Omicron)” พบว่า ร้อยละ 34.78 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล เพราะสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงและต้องเดินทางบ่อย วัคซีนที่ได้รับมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกัน, มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยว รองลงมา ร้อยละ 24.96 ระบุว่า กังวลมาก เพราะเชื้อกลายพันธุ์สามารถแพร่กระจายได้รวดเร็ว วัคซีนที่ได้รับมีประสิทธิภาพลดลง
ในการป้องกัน มาตรการคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล การบริหารของรัฐบาลยังไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 22.91 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล เพราะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 การแพร่ระบาดภายในประเทศมีจำนวนน้อย ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยสามารถรับมือได้ ไม่ได้พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และร้อยละ 17.35 ระบุว่า ไม่กังวลเลย เพราะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ต้องปรับตัวเพื่ออาศัยอยู่กับโรคโควิด 19 ให้ได้ ไม่ได้พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เป็นสายพันธุ์ไม่ค่อยมีความรุนแรง
ด้านความคิดเห็นต่อการกลายพันธุ์ของโรคโควิด 19 ในอนาคต นอกจากสายพันธุ์ “โอมิครอน (Omicron)” และ “เดลต้า (Delta)” พบว่า ร้อยละ 36.00 ระบุว่า เกิดการกลายพันธุ์ และมีความรุนแรงมากกว่าเดิม รองลงมา ร้อยละ 26.56 ระบุว่า เกิดการกลายพันธุ์ และมีความรุนแรงเหมือนเดิม ร้อยละ 14.84 ระบุว่า เกิดการกลายพันธุ์ แต่มีความรุนแรงน้อยลง ร้อยละ 8.30 ระบุว่า ไม่เกิดการกลายพันธุ์ ร้อยละ 4.03 ระบุว่า เกิดการกลายพันธุ์ แต่ไม่มีความรุนแรง และร้อยละ 10.27 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ
สำหรับวิธีการป้องกันตนเองจากโรคโควิด 19 พบว่า ร้อยละ 94.67 ระบุว่า สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ รองลงมา ร้อยละ 76.79 ระบุว่า ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ร้อยละ 65.07 ระบุว่า ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ร้อยละ 41.32 ระบุว่า หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง เช่น ตลาด สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ร้อยละ 36.53 ระบุว่า เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เช่น ยืนหรือนั่งห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร เป็นต้น ร้อยละ 10.73 ระบุว่า งดทำกิจกรรมหรืองานเลี้ยงสังสรรค์ทั้งภายในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ร้อยละ 9.97 ระบุว่า อาบน้ำทันที เมื่อกลับถึงที่พัก และติดตามข่าวสารสถานการณ์เกี่ยวกับโรคโควิด 19 ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 6.77 ระบุว่า ตรวจหาเชื้อโรคโควิด 19 ร้อยละ 6.70 ระบุว่า กักตัวอยู่บ้าน (Self-isolated) เมื่อรู้สึกไม่สบาย ร้อยละ 6.09 ทำงานที่บ้าน (Work from home) และเดินทางเท่าที่จำเป็น และร้อยละ 4.11 ระบุว่า ใช้แอปพลิเคชัน เช่น ไทยชนะ หมอชนะ เป็นต้น
ส่วนความคิดเห็นต่อมาตรการด้านสาธารณสุขของประเทศในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ พบว่า ร้อยละ 66.97 ระบุว่า การจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอในการป้องกันโรคโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ รองลงมา ร้อยละ 46.27 ระบุว่า การจัดหายารักษาโรคโควิด 19 ที่มีคุณภาพ ร้อยละ 28.39 ระบุว่า การอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถสั่งซื้อ หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ร้อยละ 26.71 ระบุว่า การเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วย ร้อยละ 25.42 ระบุว่า การออกกฎ ข้อบังคับให้ทุกคนในประเทศต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ร้อยละ 24.12 ระบุว่า การเพิ่มจำนวนเตียง โรงพยาบาลสนาม และหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) ให้เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วย ร้อยละ 23.21 ระบุว่า การให้ความสำคัญมากขึ้นกับการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ร้อยละ 21.84 ระบุว่า การพึ่งพาการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้มากขึ้น และร้อยละ 2.82 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อมาตรการด้านการเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ พบว่า ร้อยละ 68.95 ระบุว่า การเพิ่มความเข้มงวดและรัดกุมในการตรวจสอบโรคโควิด 19 กับผู้เดินทางเข้าประเทศทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รองลงมา ร้อยละ 38.81 ระบุว่า การเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงแก่ผู้ลักลอบขนแรงงานต่างชาติตามชายแดน ร้อยละ 31.51 ระบุว่า การปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ ร้อยละ 20.24 ระบุว่า การประกาศจำกัดการเดินทางภายในประเทศทันทีที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศของโรคโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ และร้อยละ 18.87 ระบุว่า การจำกัดสิทธิของผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนในการเข้าถึงบริการของรัฐ การออกไปในพื้นที่สาธารณะ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 48.86 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.14 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 6.62 อายุไม่เกิน 25 ปี ร้อยละ 13.24 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 20.85 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 35.17 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 24.12 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 97.26 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.28 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.46 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่าง ร้อยละ 23.52 สถานภาพโสด ร้อยละ 73.06 สมรส และร้อยละ 3.42 หม้าย/หย่าร้าง
ตัวอย่าง ร้อยละ 1.44 ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 29.91 สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 34.25 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.08 สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 22.37 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 4.95 สำเร็จการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี
ตัวอย่าง ร้อยละ 10.27 ประกอบอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ/ลูกจ้างของรัฐ ร้อยละ 12.94 พนักงานเอกชน ร้อยละ 3.20 เจ้าของธุรกิจส่วนตัว (มีลูกจ้าง) ร้อยละ 17.81 อาชีพอิสระ (ไม่มีลูกจ้าง) ร้อยละ 14.38 รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.13 เกษตรกรรม/ประมง ร้อยละ 22.61 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 2.66 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 21.31 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 7.38 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 16.29 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 24.05 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 10.12 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 5.86 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 5.78 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.21 ไม่ระบุรายได้
ตัวอย่าง ร้อยละ 8.83 ภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 25.95 ภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.26 ภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.49 ภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.47 ภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้
ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5