ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5
ความเชื่อเรื่องร่างทรงของคนไทย ในยุค 4.0
วันที่อัพเดทล่าสุด : 26.03.2566
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความเชื่อเรื่องร่างทรง ของคนไทย ในยุค 4.0” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20 – 21 มิถุนายน 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องร่างทรง ของคนไทย ในยุค 4.0 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความเชื่อในเรื่องร่างทรง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.64 ระบุว่า ไม่เชื่อ เพราะ ศาสนาไม่ได้สอนให้เชื่อเรื่องร่างทรง เป็นการจินตนาการ งมงาย หลอกลวง ไร้สาระ และไม่สามารถพิสูจน์ได้ รองลงมา ร้อยละ 23.60 ระบุว่า เชื่อ เพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น และจะได้ระวังตัว ไม่ประมาท และร้อยละ 1.76 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อกระแสเรียกร้องให้มีการจัดระเบียบร่างทรง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.88 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้เป็นระเบียบ เป็นที่ยอมรับและถูกกฎหมาย รองลงมา ร้อยละ 36.56 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ และไม่เป็นที่ยอมรับ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่สนับสนุนร่างทรง และร้อยละ 2.56 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกกฎหมายเอาผิดกับร่างทรงที่เรียกรับเงิน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.12 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ลดการหลอกลวงและความเชื่องมงายที่ไม่มีอยู่จริง ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ถูกหลอกลวง รองลงมา ร้อยละ 21.52 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ไม่สามารถห้ามได้ และร้อยละ 1.36 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงแนวทางแก้ปัญหาในการจัดระเบียบร่างทรง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.08 ระบุว่า ปลูกฝังให้ประชาชนมีวิจารณญาณ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ รองลงมา ร้อยละ 33.04 ระบุว่า ออกกฎหมายข้อบังคับในการควบคุมร่างทรง มีบทลงโทษแก่ผู้ที่กระทำผิด ร้อยละ 25.28 ระบุว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาควบคุมตรวจสอบ พิสูจน์ ร้อยละ 17.52 ระบุว่า มีการขึ้นทะเบียนร่างทรงอย่างถูกกฎหมาย ร้อยละ 3.28 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ไม่มีแนวทางแก้ปัญหาในการจัดระเบียบร่างทรง ขณะที่บางส่วนระบุว่าไม่อยากให้มีร่างทรงเลย เพราะถือว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน และร้อยละ 1.76 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5