ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5
หนี้ “กยศ.” ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ?
วันที่อัพเดทล่าสุด : 26.03.2566
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง หนี้ “กยศ.” ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ? ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,269 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการจัดการของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษากรณี ไม่ยอมชำระหนี้ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกัน ในกรณีที่มีผู้กู้ยืมเงิน “กยศ.” ไม่ชำระหนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.06 ระบุว่า ควรต้องรับผิดชอบ เพราะ ผู้ค้ำยินยอมตามสัญญาที่กำหนดไว้ควรเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จึงต้องรับผิดชอบร่วมกัน รองลงมา ร้อยละ 43.58 ระบุว่า ไม่ควรต้องรับผิดชอบ เพราะ ผู้ค้ำไม่ได้รับประโยชน์จากการกู้เลยและมีส่วนเกี่ยวข้องแค่บางส่วนเท่านั้น ผู้กู้ยืมจึงควรรับผิดชอบทั้งหมด และร้อยละ 2.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับบทลงโทษของผู้กู้ยืมเงิน “กยศ.” ที่ไม่ชำระหนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.57 ระบุว่า หักหนี้จากบัญชีเงินเดือนโดยอัตโนมัติ รองลงมา ร้อยละ 31.84 ระบุว่า หักเงินเดือนผ่านองค์กรนายจ้าง ร้อยละ 17.26 ระบุว่า จับ/ปรับ และดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นสูงสุด ร้อยละ 14.42 ระบุว่า แบล็คลิสต์ธุรกรรมทางการเงิน ร้อยละ 9.30 ระบุว่า ยึดทรัพย์สิน และร้อยละ 2.13 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความเชื่อมั่นต่อ “กยศ.” ว่าจะสามารถติดตามการชำระหนี้กับผู้กู้ยืมได้เงินสำเร็จหรือไม่ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 8.59 ระบุว่า เชื่อมั่นมากที่สุด ร้อยละ 55.40 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก ร้อยละ 27.19 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น ร้อยละ 5.20 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย และร้อยละ 3.62 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ โดยผู้ที่ระบุว่า มีความเชื่อมั่นมาก – มากที่สุด ได้ให้เหตุผลว่า มาตรการต่าง ๆ ในการติดตามทวงหนี้ของ กยศ. มีหลากหลายช่องทาง และมีประสิทธิภาพในการนำมาใช้ในการทำงาน ส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น – ไม่มีความเชื่อมั่นเลย ให้เหตุผลว่า กยศ.ไม่มีมาตรการที่ดีพอในการติดตามการชำระหนี้และหลักเกณฑ์ในการดำเนินการต่างๆยังไม่ครอบคลุม ขณะที่บางส่วนระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ยังไม่เด็ดขาดพอ
เมื่อถามถึงประสิทธิภาพของระบบการติดตามการชำระหนี้ “กยศ.” ในปัจจุบัน พบว่า ประชาชน ร้อยละ 5.28 ระบุว่า มีประสิทธิภาพมากที่สุด ร้อยละ 41.37 ระบุว่า มีประสิทธิภาพมาก ร้อยละ 37.98 ระบุว่า ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 9.46 ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพเลย และร้อยละ 5.91 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ โดยผู้ที่ระบุว่า มีประสิทธิภาพมาก – มากที่สุด ได้ให้เหตุผลว่า มีระบบการติดตามการชำระหนี้ที่เข้มงวดและเด็ดขาดพอสมควร ส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ – ไม่มีประสิทธิภาพเลย ให้เหตุผลว่า มีมาตรการจัดการที่ไม่เด็ดขาด และไม่ต่อเนื่องในการติดตามการชำระหนี้
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระบบการให้กู้ยืมและการติดตามการชำระหนี้ของ “กยศ.” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.03 ระบุว่า คัดกรอง ผู้กู้ยืมอย่างละเอียดก่อนให้กู้ยืมเงินว่าต้องมีฐานะยากจนจริง รองลงมา ร้อยละ 37.59 ระบุว่า กำหนดผู้ค้ำประกันให้เป็นบิดา มารดา หรือ ญาติของผู้กู้ยืมเงิน ร้อยละ 30.34 ระบุว่า ติดตาม/ตรวจสอบสถานะประวัติผู้กู้เงิน “กยศ.” ตลอดเวลา ร้อยละ 13.00 ระบุว่า ออกกฎหมาย/บทลงโทษขั้นรุนแรง กับผู้ค้างชำระหนี้ “กยศ.” ร้อยละ 11.82 ระบุว่า ควบคุมจำนวนเงินกู้กับผู้กู้ยืมเงิน “กยศ.” ร้อยละ 11.35 ระบุว่า ยกเลิกการให้มีผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงิน “กยศ.” ที่มิใช่บุคคลในครอบครัว หรือ ญาติ ร้อยละ 0.55 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ใช้หลักทรัพย์ในการค้ำประกัน ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก มีงานรองรับกรณีที่ผู้กู้ไม่มีเงินชำระหนี้ หรือยากจนจริง ๆ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ควรยกเลิกการให้กู้เงิน กยศ. ไปเลย และร้อยละ 5.99 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5