ผลสำรวจของนิด้าโพล

ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
  • 1

    Final Round เลือกนายก อบจ. ปทุมธานี 2567

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 30 มิ.ย. 2567

  • 2

    การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2-2567

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 30 มิ.ย. 2567

  • 3

    Believe It or Not ทางการเมืองไทย

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 23 มิ.ย. 2567

  • 4

    ใครกล้าฟันธง เลือกตั้งนายก อบจ. ปทุมธานี 2567

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 16 มิ.ย. 2567

  • 5

    ขอถามบ้าง 9 เดือนรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 09 มิ.ย. 2567

นายกรัฐมนตรีตามร่างรัฐธรรมนูญ 2558

วันที่อัพเดทล่าสุด : 26.03.2566

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “นายกรัฐมนตรีตามร่างรัฐธรรมนูญ 2558” ทำการสำรวจระหว่างวันที่  29 – 30 เมษายน 2558 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,261 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีตามร่างรัฐธรรมนูญ 2558 อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และ มีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4

 

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 172) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.40 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เชื่อมั่นและไว้วางใจในตัว ส.ส. ซึ่งเป็นตัวแทนที่ประชาชนได้เลือกเข้ามา ดูเป็นระบบ ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และรวดเร็วดี ขณะที่ ร้อยละ 36.64 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ต้องการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง และอาจมีการเล่นพรรคเล่นพวกเกิดขึ้นในการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร และร้อยละ 3.96 ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ/ขึ้นอยู่กับรัฐบาล

 

ความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่เปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. (นายกคนนอก) แต่ต้องได้รับเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวน ส.ส. (มาตรา 172) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.98 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่มีประสบการณ์เพียงพอในการบริหารประเทศ นายกที่มาจาก ส.ส. น่าจะมีประสบการณ์และทำงานได้ดีกว่า ควรมาจากการเลือกตั้งน่าจะดีกว่า ขณะที่ ร้อยละ 45.76 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นช่องทางเลือกอีกช่องทางหนึ่ง ในการสรรหานายกรัฐมนตรี ควรเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาบริหารประเทศบ้าง ซึ่งน่าจะทำงานได้ดีกว่านายกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และร้อยละ 6.26 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ขึ้นอยู่กับรัฐบาล 

 

เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อ เดือนธันวาคม ปี 2557 ที่มีผู้ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 63.36 และผู้ที่เห็นด้วย ร้อยละ 34.58 แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่สัดส่วนของผู้ที่เห็นด้วยเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้อธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องเปิดช่องไว้สำหรับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจาก ส.ส.

 

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่กำหนดให้นายกฯ อาจเสนอขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรและหากได้รับความไว้วางใจ สภาก็จะถูกตัดสิทธิในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีไปโดยอัตโนมัติ ตลอดสมัยประชุม (มาตรา 181) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.19 ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการลดอำนาจและบทบาทหน้าที่ของสภาฯ มากจนเกินไป อาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการตรวจสอบการทำงาน ควรเปิดอภิปรายเป็นระยะ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลการทำงานของรัฐบาล ขณะที่ ร้อยละ 31.64 ระบุว่า  เห็นด้วย เพราะ จะได้ไม่ต้องเปิดการอภิปรายหลายรอบ ลดค่าใช้จ่าย เวลา และความวุ่นวายที่เกิดจากการกระทบกระทั่งกันในสภาฯ  และร้อยละ 21.17 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ขึ้นอยู่กับรัฐบาล

 

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่ให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รัฐมนตรี และคัดเลือกกันเองเพื่อหาบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง (มาตรา 184) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.58 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่เป็นประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น หากมีการเลือกกันเอง กังวลว่าจะเกิดความไม่โปร่งใส เลือกแต่พรรคพวกของตนเองเข้ามา ขณะที่ ร้อยละ 43.62 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ บางครั้ง มีเหตุจำเป็นต้องหานายกรัฐมนตรี ในช่วงรอยต่อรัฐบาล หรือเกิดช่องว่างทางการเมือง เพื่อให้สามารถทำงานหรือสานงานต่อไปได้อย่างราบรื่น และค่อนข้างไว้วางใจในตัวปลัดกระทรวงว่าจะสามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถและเหมาะสมเข้ามาทำงานได้เป็นอย่างดี และร้อยละ 8.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ขึ้นอยู่กับรัฐบาล

 

เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือน กรกฎาคม และ ธันวาคม ปี 2557 พบว่า มีผู้ที่ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 25.10 และ ร้อยละ 47.25 ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ที่เห็นด้วย อยู่ที่ ร้อยละ 66.00 และ ร้อยละ 46.05 ตามลำดับ จากผลสำรวจที่พบว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รัฐมนตรี และคัดเลือกกันเองเพื่อหาบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง มีสัดส่วนแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ อาจเกิดจากความรู้สึกของประชาชนจำนวนหนึ่งที่มองว่าการเข้าถึงปลัดกระทรวงเพื่อร้องเรียนปัญหาต่างๆ นั้นยากกว่าการร้องเรียนต่อรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีที่เป็นนักการเมือง

ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
  • 1

    Final Round เลือกนายก อบจ. ปทุมธานี 2567

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 30 มิ.ย. 2567

  • 2

    การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2-2567

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 30 มิ.ย. 2567

  • 3

    Believe It or Not ทางการเมืองไทย

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 23 มิ.ย. 2567

  • 4

    ใครกล้าฟันธง เลือกตั้งนายก อบจ. ปทุมธานี 2567

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 16 มิ.ย. 2567

  • 5

    ขอถามบ้าง 9 เดือนรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 09 มิ.ย. 2567

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อาคารเสรีไทย เลขที่ 148 ถนนเสรีไทย
แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ
กรุงเทพมหานคร 10240

ติดต่อเรา

ฝ่ายโพลสาธารณะ :
02 727 3596
, 02 727 3028

ฝ่ายธุรกิจโพล :
02 727 3618
, 02 727 3387

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ :
02 727 3089

โทรสาร :
02 727 3590

อีเมล : nida_poll@nida.ac.th

Copyright © 2020. All Rights Reserved. nidapoll.nida.ac.th