ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5
พระสงฆ์กับกรณีวัดพระธรรมกาย
วันที่อัพเดทล่าสุด : 26.03.2566
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พระสงฆ์กับกรณีวัดพระธรรมกาย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 – 3 มีนาคม 2560 กรณีศึกษาจากประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับพระสงฆ์กับกรณีวัดพระธรรมกาย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชน ว่ามีพระสงฆ์ปลอมที่เข้ามาสร้างสถานการณ์ในวัดพระธรรมกายหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.28 เชื่อว่ามีพระสงฆ์ปลอม ขณะที่ ร้อยละ 15.28 เชื่อว่าไม่มีพระสงฆ์ปลอม และร้อยละ 13.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชน ว่าควรมีการตรวจสอบใบสุทธิของพระสงฆ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย โดยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.76 ระบุว่า ควรมีการตรวจสอบใบสุทธิ โดยให้เหตุผลว่า เพราะ เป็นการป้องกันผู้ที่ไม่หวังดีเข้ามาแอบอ้างเป็นพระสงฆ์แล้วถูกเกณฑ์เข้ามาสร้างสถานการณ์ ทำให้เรื่องบานปลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งพระสงฆ์ปลอมสมัยนี้มีค่อนข้างเยอะใคร ๆ ก็สามารถหาซื้อจีวรพระมานุ่งห่มเองได้ เป็นการคัดกรองคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปในตัวจะได้ทราบว่าพระสงฆ์รูปใดบ้างที่เป็นพระจากวัดพระธรรมกายจริง ๆ และเพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจลดความเคลือบแคลงและข้อสงสัยของประชาชนควรให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ซึ่งการให้ DSI ตรวจสอบไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร
ขณะที่ ร้อยละ 4.80 ระบุว่า ไม่ควรมีการตรวจสอบใบสุทธิ เพราะ ไม่เป็นการสมควร เป็นการละเมิดสิทธิมากเกินไป ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ และเชื่อว่าไม่น่าจะมีพระสงฆ์ปลอม เชื่อว่าเป็นพระที่เข้ามาบวชและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง และก่อนที่จะเข้ามาบวชได้นั้น จะต้องมีการกรอกข้อมูลและลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ จึงยากที่จะมีพระสงฆ์ปลอม และสถานการณ์ของวัดดูเรียบร้อยดี เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ตรงจุด ไม่ควรทำให้วุ่นวายมากไปกว่าเดิม และร้อยละ 1.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนว่าวัดพระธรรมกาย ขาดแคลนอาหารและยาตามที่ปรากฎเป็นข่าวหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.44 เชื่อว่าวัดพระธรรมกายขาดแคลนอาหารและยา ขณะที่ ร้อยละ 14.40 เชื่อว่าวัดพระธรรมกายไม่ขาดแคลนอาหารและยา และร้อยละ 14.16 ไม่ระบุ/
ท้ายสุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องของคดีวัดพระธรรมกายกับนักการเมือง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.96 เชื่อว่าคดีวัดพระธรรมกายมีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับนักการเมือง ขณะที่ ร้อยละ 13.60 เชื่อว่าคดีวัดพระธรรมกายไม่มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับนักการเมือง และร้อยละ 15.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5