ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5
เทศกาลสงกรานต์ : การถูกลวนลาม – คุกคามทางเพศ
วันที่อัพเดทล่าสุด : 26.03.2566
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “เทศกาลสงกรานต์ : การถูกลวนลาม – คุกคามทางเพศ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5 – 6 เมษายน 2560 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการถูกลวนลามและการคุกคามทางเพศในช่วง เทศกาลสงกรานต์ การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่า ความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการการถูกลวนลาม – คุกคามทางเพศทั้งผู้หญิงและผู้ชายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.20 ระบุว่า เป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม รองลงมา ร้อยละ 43.28 ระบุว่า เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ความคึกคะนอง หรือมีนเมา ขาดสติ ร้อยละ 31.28 ระบุว่า เป็นพฤติกรรมที่นำมาสู่การก่ออาชญากรรมอื่น ๆ เช่น การข่มขืนกระทำชำเราอนาจาร การทะเลาะวิวาท ร้อยละ 8.64 ระบุว่า หากเป็นแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่ควรถือโทษ เพราะเป็นช่วงเทศกาลรื่นเริง ร้อยละ 8.24 ระบุว่า บางครั้งเป็นการทำโดยไม่ตั้งใจหรือเจตนา เผลอแบบโดยบังเอิญ และร้อยละ 1.84 ระบุ อื่น ๆ ได้เแก่ เกิดจากการแต่งกายที่ไม่เหมาะสม แต่บางครั้งก็เกิดจากการสมยอมกัน, ควรมีกฎหมายและบทลงโทษที่เข้มงวด ทำให้ประเพณีการเล่นสงกรานต์มีภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสีย
ด้านการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการลวนลามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำอนาจารในที่สาธารณะ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.52 ระบุว่า ทราบ ขณะที่ ร้อยละ 20.48 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ
สำหรับการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับบทลงโทษทางกฎหมายเกี่ยวกับการลวนลามทางเพศ ซึ่งในจำนวนประชาชนผู้ที่ทราบว่า การลวนลามทางเพศถือว่าเป็นการกระทำอนาจารในที่สาธารณะ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.24 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ เกี่ยวกับบทลงโทษ รองลงมา ร้อยละ 19.47 ทราบว่ามีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และร้อยละ 14.29 ทราบว่า มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี
ด้านพฤติกรรมการเคยถูกลวนลามทางเพศของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์แบบเจตนา ในภาพรวม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 89.76 ระบุว่า ไม่เคยถูกลวนลาม รองลงมา ร้อยละ 9.60 ระบุว่า เคย และร้อยละ 0.64 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ว่าเป็นการเจตนาหรือไม่อย่างไร
เมื่อพิจารณาการถูกลวนลามทางเพศ จำแนกตามเพศ พบว่า เพศชาย ร้อยละ 91.01 ระบุว่า ไม่เคย รองลงมา ร้อยละ 8.04 ระบุว่า เคย และร้อยละ 0.95 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ส่วนเพศหญิง พบว่า ร้อยละ 88.46 ระบุว่า ไม่เคย รองลงมา ร้อยละ 11.22 ระบุว่า เคย และร้อยละ 0.33 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ขณะที่เพศทางเลือก ร้อยละ 100.00 ระบุว่า ไม่เคยถูกลวนลามทางเพศ
เมื่อถามถึงการเคยถูกลวนลามทางเพศของประชาชน จากเพศต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์แบบเจตนา ในภาพรวม พบว่า ในจำนวนผู้ที่เคยถูกลวนลามทางเพศ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.33 ระบุว่า เคยถูกลวนลามจากเพศตรงข้าม รองลงมา ร้อยละ 22.50 ระบุว่า เคยถูกลวนลามจากเพศเดียวกัน และ จากเพศทางเลือก ในสัดส่วนที่เท่ากัน เมื่อพิจารณาการถูกลวนลามทางเพศ จำแนกตามเพศ พบว่า เพศชาย ร้อยละ 43.28 ระบุว่า เคยถูกลวนลามจากเพศตรงข้าม ขณะที่ร้อยละ 22.39 เคยถูกลวนลามจากเพศเดียวกัน และร้อยละ 34.33 ระบุว่า เคยถูกลวนลามจากเพศทางเลือก ขณะที่เพศหญิง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.67 เคยถูกลวนลามจากเพศตรงข้าม ร้อยละ 16.00 ระบุว่า เคยถูกลวนลามจากเพศเดียวกัน และร้อยละ 5.33 เคยถูกลวนลามจากเพศทางเลือก
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิ่งที่จะดำเนินการ หากถูกลวนลามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์แบบเจตนา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.56 ระบุว่า จะแจ้งความและเอาผิดอย่างถึงที่สุด รองลงมา ร้อยละ 30.64 ระบุว่า มีการปัดป้อง ปกป้อง ป้องกันตัวเอง ออกมาให้ห่างจากพื้นที่เสี่ยง หรืออยู่กับเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจ ในที่คนเยอะ ๆ หรือที่ปลอดภัย ร้อยละ 9.28 ระบุว่า จะบอกเพื่อน คนรอบข้าง ร้อยละ 9.12 ระบุว่า จะเจรจา ไกล่เกลี่ย ยอมความ ร้อยละ 5.20 ระบุว่าไม่ทำอะไร ไม่เอาผิด ไม่แจ้งความ ร้อยละ 0.32 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ จะใช้กำลัง และว่ากล่าวตักเตือน ร้อยละ 10.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ขอดูสถานการณ์และความรุนแรงก่อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงเหตุผลของประชาชนที่ไม่ดำเนินการใด ๆ ในกรณีหากถูกลวนลามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์แบบเจตนา พบว่า ในจำนวนนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.46 ระบุว่า รู้สึกเฉย ๆ เป็นเรื่องปกติของเทศกาล เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ได้เสียหายอะไรมาก หนึ่งปีมีแค่ครั้งเดียว รองลงมา ร้อยละ 15.38 ระบุว่า ไม่อยากมีเรื่องราว เสียเวลา ร้อยละ 4.62 ระบุว่า อับอาย และร้อยละ 1.54 ระบุว่า ส่วนใหญ่ หาผู้กระทำผิดไม่ได้
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงข้อเสนอแนะของประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันการถูกลวนลามทางเพศทั้งผู้หญิงและผู้ชายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.44 ระบุว่า ควรระมัดระวัง และป้องกันตัวเอง เช่น แต่งกายให้มิดชิด ไม่ล่อแหลม ไม่ใส่เสื้อผ้าที่โชว์สรีระ ไม่สั้นหรือโป๊ หรือผ้าสีขาวบาง และหลีกเลี่ยงในพื้นที่เสียง สถานที่ที่มีคนเบียดเสียดกันมาก อยู่ให้ห่างไกลจากคนที่มีอาการมึนเมา และหากจำเป็น ควรอยู่กันเป็นกลุ่มกับเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจได้ รองลงมา ร้อยละ 12.87 ระบุว่า ควรมีมาตรการในการซื้อ – ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กและเยาวชน และควรหลีกเลี่ยงการดื่มของมึนเมา หากเลี่ยงไม่ได้ ควรดื่มอย่างมีสติ ร้อยละ 7.40 ระบุว่า รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และปลูกฝังค่านิยมให้เล่นสงกรานต์อย่างมีสติ รู้จักกาลเทศะ เล่นอย่างมีขอบเขต เน้นการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทย โดยเริ่มจากสถาบันครอบครัว และสอนให้รู้จักวิธีการป้องกันตัวเอง และไม่เป็นคนฉวยโอกาส ร้อยละ 6.18 ระบุว่า ควรมีมาตรการ บทลงโทษ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ร้อยละ 3.24 ระบุว่า ควรมีตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ คอยตรวจตรา ดูแลความเรียบร้อย และรับแจ้งเหตุ ตามสถานที่ที่มีการจัดเล่นน้ำสงกรานต์ ร้อยละ 1.32 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละบุคคล และร้อยละ 3.95 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ งดการออกไปเล่นน้ำสงกรานต์ หากิจกรรมอย่างอื่นทำ, ควรจัดพื้นที่สำหรับเล่นสงกรานต์โดยเฉพาะ (การจัด Zoning) , และให้ช่วยกันสอดส่องดูแล
ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5