ผลสำรวจของนิด้าโพล

ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
  • 1

    ค่าแรงขึ้น... คุ้มมั๊ยกับค่าแกง

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 12 พ.ค. 2567

  • 2

    แก้ไขรัฐธรรมนูญ เอาไงดี

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 05 พ.ค. 2567

  • 3

    หยุดรัฐประหาร

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 28 เม.ย. 2567

  • 4

    จากบทบาททักษิณ ถึง ฝันของนายกฯ เศรษฐา

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 21 เม.ย. 2567

  • 5

    ภาพลักษณ์ผู้สูงอายุไทย 2567

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 13 เม.ย. 2567

วิถีชีวิตคนไทยกับกฎหมายว่าด้วยรถกระบะ

วันที่อัพเดทล่าสุด : 26.03.2566

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “วิถีชีวิตคนไทยกับกฎหมายว่าด้วยรถกระบะ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18 – 21 เมษายน 2560 จากประชาชน ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการห้ามนั่งในแค็บและการนั่งท้ายรถกระบะ การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่า ความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4

 

จากการสำรวจเมื่อถามถึงพฤติกรรมการใช้รถกระบะของประชาชน (การใช้งาน/การเป็นเจ้าของ/การนั่งโดยสาร) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.16 ระบุว่า ใช้รถกระบะ ขณะที่ ร้อยละ 25.84 ระบุว่า ไม่ได้ใช้รถกระบะ โดยในจำนวนผู้ที่ใช้รถกระบะนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.22 ระบุว่า ใช้รถกระบะมีแค็บ  2 ประตู รองลงมา ร้อยละ 29.02 ระบุว่า ใช้รถกระบะ 4 ประตู และร้อยละ 17.58 ระบุว่า ใช้รถกระบะไม่มีแค็บ

 

ด้านการรับรู้ของประชาชนก่อนหน้าการประกาศใช้ ม. 44 เกี่ยวกับพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ว่า รถกระบะที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (ป้ายสีขาว ตัวอักษรสีเขียว) และเดินทางบนถนนทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงระหว่างจังหวัด ทางหลวงระหว่างอำเภอ ทางหลวงชนบท และทางหลวง “ห้าม” นั่งท้ายกระบะ มีความผิดฐานใช้รถผิดประเภท ในภาพรวม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.32 ระบุว่า ไม่ทราบมาก่อนหน้าการประกาศใช้ ม. 44 ขณะที่ ร้อยละ 47.68 ระบุว่า ทราบมาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อพิจารณาจำแนกตามกลุ่มผู้ใช้รถกระบะ พบว่า ผู้ที่ใช้รถกระบะ มีสัดส่วนของผู้ที่ไม่ทราบและทราบ ใกล้เคียงกัน โดยผู้ที่ใช้รถกระบะ ร้อยละ 50.81 ระบุว่าไม่ทราบ และ ร้อยละ 49.19 ระบุว่าทราบ ขณะที่ ผู้ที่ไม่ได้ใช้รถกระบะ มีสัดส่วนของผู้ที่ไม่ทราบสูงกว่าผู้ที่ทราบ โดย ร้อยละ 56.66 ระบุว่าไม่ทราบ และ ร้อยละ 43.34 ระบุว่าทราบ

 

ด้านการรับรู้ของประชาชนก่อนหน้าการประกาศใช้ ม. 44 ว่า รถกระบะมีแค็บ “ห้าม” นั่งในแค็บ เพราะส่วนที่เป็นแค็บไม่ได้ออกแบบให้เป็นที่นั่ง แต่ไว้สำหรับใส่สิ่งของ มีความผิดฐานใช้รถผิดประเภท ในภาพรวม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.92 ระบุว่า ไม่ทราบ มาก่อนหน้าการประกาศใช้ ม. 44 ขณะที่ ร้อยละ 36.08 ระบุว่า ทราบ  เมื่อพิจารณาจำแนกตามกลุ่มผู้ใช้รถกระบะ พบว่า ทั้งผู้ที่ใช้และไม่ใช้รถกระบะ มีสัดส่วนของผู้ที่ไม่ทราบสูงกว่าผู้ที่ทราบ โดยผู้ที่ใช้รถกระบะ ร้อยละ 63.43 ระบุว่าไม่ทราบ และ ร้อยละ 36.57 ระบุว่าทราบ ขณะที่ผู้ที่ไม่ได้ใช้รถกระบะ ร้อยละ 65.33  ระบุว่าไม่ทราบ และ ร้อยละ 34.67 ระบุว่าทราบ

 

สำหรับความคิดเห็นของประชาชน หากจะให้มีการแก้ไขกฎหมาย กรณีการห้ามนั่งท้ายรถกระบะ และการห้ามนั่งในแค็บ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ในภาพรวม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.36 ระบุว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมาย รองลงมา ร้อยละ 13.84 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมาย และ ร้อยละ 2.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และเมื่อพิจารณาจำแนกตามกลุ่มผู้ใช้รถกระบะ พบว่า ทั้งผู้ที่ใช้และไม่ใช้รถกระบะ มีสัดส่วนผู้ที่เห็นด้วยสูงกว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยผู้ที่ใช้รถกระบะ ร้อยละ 87.70 ระบุว่า เห็นด้วย และร้อยละ 10.36 ไม่เห็นด้วย ขณะที่ผู้ที่ไม่ได้ใช้รถกระบะ ร้อยละ 70.90 ระบุว่า เห็นด้วย  และร้อยละ 23.84  ไม่เห็นด้วย

 

เมื่อถามถึงเหตุผลของประชาชนที่เห็นด้วย กับการแก้ไขกฎหมาย กรณี การห้ามนั่งท้ายรถกระบะ และ การห้ามนั่งในแค็บ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.67 ระบุว่า บางครอบครัวเป็นครอบครัวใหญ่ มีสมาชิกในครอบครัวเยอะ รองลงมา ร้อยละ 57.68 ระบุว่า บางครอบครัวจำเป็นต้องใช้รถกระบะในการใช้งานแบบเอนกประสงค์ ทั้งโดยสาร ขนของ ร้อยละ 45.01 ระบุว่า บางคนมีงบประมาณจำกัดในการซื้อรถ ร้อยละ 10.94 ระบุว่า จะได้ช่วยชาติประหยัดพลังงานอีกทางหนึ่ง ร้อยละ 7.39 ระบุว่า เป็นการป้องกันการถูกตำรวจนอกรีต ขมขู่ รีดไถ โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือหากินกับประชาชน ร้อยละ 5.57 ระบุว่า ประชาชนไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ และร้อยละ 1.92 อื่น ๆ ได้แก่ กฎหมายล้าสมัย ควรเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพสังคมและยุคสมัยที่เปลี่ยนไป, เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ  เพราะการนั่งแค็บหรือท้ายกระบะไม่ใช่สาเหตุหลัก ของการเกิดอุบัติเหตุ ควรแก้ไขปัญหาการขับรถประมาท  เช่น เมาแล้วขับ หรือขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

 

สำหรับเหตุผลของประชาชนที่ไม่เห็นด้วย กับการแก้ไขกฎหมาย กรณี การห้ามนั่งท้ายรถกระบะ และ การห้ามนั่งในแค็บ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.73 ระบุว่า เพื่อลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนน รองลงมา ร้อยละ 39.77 ระบุว่า ประชาชนยังมีทางเลือกอื่น เช่น การติดตั้งคอก หรือราวกั้นเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้โดยสารยึดเกาะ และม่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 19.30 ระบุว่า ควรปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะกฎหมายมีมานานมากแล้ว แต่ที่ผ่านมาเป็นการผ่อนปรน คนไทยชอบทำอะไรตามใจตนเอง และร้อยละ 0.58 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของผู้ขับขี่

 

ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายต่อแนวทางการแก้ไขกฎหมาย กรณี การห้ามนั่งท้ายรถกระบะ และการห้ามนั่งในแค็บ พบว่า ประชาชนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมาย ส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.87 ระบุว่า ควรแก้ไขให้สามารถนั่งท้ายกระบะได้ แต่มีข้อจำกัด เช่น นั่งได้เฉพาะเส้นทางรอง จำกัดจำนวนคนที่นั่ง ใช้ความเร็วไม่เกินที่กำหนด หรือนั่งได้ในช่วงเทศกาล รองลงมา ร้อยละ 43.91 ระบุว่า ควรแก้ไขให้สามารถนั่งในแค็บได้ แต่มีข้อจำกัด  เช่น นั่งได้เฉพาะเส้นทางรอง จำกัดจำนวนคนที่นั่ง ใช้ความเร็วไม่เกินที่กำหนด หรือนั่งได้ในช่วงเทศกาล ร้อยละ 40.14 ระบุว่า ควรห้ามเฉพาะการนั่งขอบกระบะและฝาท้ายกระบะ ร้อยละ 22.05 ระบุว่า ควรแก้ไขให้สามารถนั่งในแค็บได้ แบบไม่มีข้อจำกัด ร้อยละ 20.12 ระบุว่า ควรแก้ไขให้รถกระบะ เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลที่สามารถนั่งท้ายรถกระบะได้ แบบไม่มีข้อจำกัด ร้อยละ 16.83 ระบุว่า ควรแก้ไขให้รถกระบะ เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลที่สามารถนั่งแค็บได้ โดยติดตั้งเข็มขัดนิรภัยภายในแค็บ ร้อยละ 1.93 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ควรทบทวนข้อกฎหมายและใช้หลักอื่น ๆ พิจารณาร่วมด้วย เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ ความเร็วที่ใช้ พื้นที่/เส้นทาง รวมไปถึงกฎหมายว่าด้วยการผลิตและออกแบบรถกระบะ ให้มีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน, และเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่เมาแล้วขับ หรือขับรถเร็ว

 

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับข้อเสนอแนะหรือมาตรการต่าง ๆ  เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบการใช้รถกระบะกับวิถีชีวิตของคนไทย กรณีถ้าหากไม่มีการแก้ไขกฎหมาย กรณี การห้ามนั่งท้ายรถกระบะ และการห้ามนั่งในแค็บ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.60 ระบุว่า ควรทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นจากประชาชน ผู้ใช้รถ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม รองลงมา ร้อยละ 22.32 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะมีทางออกหรือการเตรียมความพร้อมอย่างไร หากเริ่มมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ร้อยละ 17.68 ระบุว่า ประชาชนผู้ใช้รถ ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น คาดเข็มขัดนิรภัย ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ไม่นั่งขอบท้ายกระบะ หรือในแค็บ หรือหากต้องขนคนขึ้นท้ายกระบะ ต้องขออนุญาตกับเจ้าพนักงานจราจรเป็นครั้ง ๆ หรือรายกรณีไป หรือ ติดตั้งคอก หรือราวกั้นเพิ่มเติม ซึ่งมีกฎหมายรองรับอยู่

 

นอกจากนี้ ร้อยละ 15.28 ระบุว่า ควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว ร้อยละ 12.80 ระบุว่า ควรมีการกำกับดูแลให้ทำตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น ผู้ขายรถยนต์ ต้องชี้แจงให้ผู้ซื้อรถยนต์ทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทรถยนต์  การใช้งาน จำนวนผู้โดยสารที่สามารถบรรจุได้ ส่วนใดที่ผู้โดยสารนั่งได้หรือไม่ได้ รวมไปถึงอุปกรณ์เข็มขัดนิรภัยด้วย ร้อยละ 12.08 ระบุว่า ควรมีแผนหรือมาตรการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถกระบะของประชาชน ให้ถูกกฎหมายอย่างค่อยเป็นค่อยไป และร้อยละ 2.24 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐควรปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น เพื่อรองรับการให้การบริการแก่ประชาชน, บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด, และควรมีการหารือกับผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม

ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
  • 1

    ค่าแรงขึ้น... คุ้มมั๊ยกับค่าแกง

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 12 พ.ค. 2567

  • 2

    แก้ไขรัฐธรรมนูญ เอาไงดี

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 05 พ.ค. 2567

  • 3

    หยุดรัฐประหาร

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 28 เม.ย. 2567

  • 4

    จากบทบาททักษิณ ถึง ฝันของนายกฯ เศรษฐา

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 21 เม.ย. 2567

  • 5

    ภาพลักษณ์ผู้สูงอายุไทย 2567

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 13 เม.ย. 2567

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อาคารเสรีไทย เลขที่ 148 ถนนเสรีไทย
แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ
กรุงเทพมหานคร 10240

ติดต่อเรา

ฝ่ายโพลสาธารณะ :
02 727 3596
, 02 727 3028

ฝ่ายธุรกิจโพล :
02 727 3618
, 02 727 3387

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ :
02 727 3089

โทรสาร :
02 727 3590

อีเมล : nida_poll@nida.ac.th

Copyright © 2020. All Rights Reserved. nidapoll.nida.ac.th