ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5
การทุจริตเงินอุดหนุนวัด
วันที่อัพเดทล่าสุด : 26.03.2566
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การทุจริตเงินอุดหนุนวัด” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14 – 16 มิถุนายน 2560 กรณีศึกษาจากประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทุจริตเงินอุดหนุนวัด และการบริหารจัดการบัญชีทรัพย์สินของวัด การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสาเหตุหลักของช่องโหว่ในการทุจริตเงินอุดหนุนวัด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.48 ระบุว่า เป็นเพราะวัดขาดการบริหารจัดการ มีความหละหลวมในการตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่ายทรัพย์สิน รองลงมา ร้อยละ 35.92 ระบุว่า เป็นเพราะความอ่อนแอของการบังคับใช้กฎหมาย ร้อยละ 29.84 ระบุว่า เป็นเพราะสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขาดการบริหารจัดการ มีความหละหลวมในการตรวจสอบเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณ ร้อยละ 19.68 ระบุว่า เป็นเพราะกฎหมาย หรือ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ร้อยละ 6.96 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ที่คาดว่าอาจจะมีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำมิชอบ กรณีการทุจริตเงินอุดหนุนวัด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.76 ระบุว่า อาจจะเป็นคณะกรรมการวัด รองลงมา ร้อยละ 38.24 ระบุว่า อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติบางคน ร้อยละ 36.96 ระบุว่า อาจจะเป็นเจ้าอาวาส ร้อยละ 26.00 ระบุว่า อาจจะเป็นข้าราชการหรืออดีตข้าราชการบางคน ร้อยละ 0.16 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พระลูกวัด หรือผู้มีอิทธิพลในชุมชน และร้อยละ 5.92 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความโปร่งใสในการบริหารจัดการบัญชีทรัพย์สินของวัดโดยทั่วไปในปัจจุบัน พบว่า ประชาชน ร้อยละ 2.32 ระบุว่า มีความโปร่งใสมาก ร้อยละ 11.76 ระบุว่า มีความโปร่งใสค่อนข้างมาก ร้อยละ 3.44 ระบุว่า มีความโปร่งใสปานกลาง ร้อยละ 39.44 ระบุว่า มีความโปร่งใสค่อนข้างน้อย ร้อยละ 37.36 ระบุว่า ไม่มีความโปร่งใสเลย และร้อยละ 5.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการให้ตัวแทนจากประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายทรัพย์สินของวัด เพื่อความเป็นกลาง โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และเป็นที่ไว้วางใจของชุมชนและพุทธศาสนิกชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.80 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เพื่อความเป็นระบบ มีความเป็นกลางโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เป็นการป้องกันการทุจริต ทุกฝ่ายจะได้มีความสบายใจ โดยเฉพาะผู้ที่ทำบุญหรือบริจาคเงินเข้าวัด เพราะเป็นเงินมาจากประชาชน ทำให้มีตัวแทนจากประชาชนคอยสอดส่องดูแล ช่วยกัน เป็นหูเป็นตา ซึ่งที่ผ่านมาส่วนมากเกิดจากคนภายในที่ทุจริตกันเอง อีกทั้งพระบางวัดอาจจะไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการจัดการบัญชี ขณะที่ ร้อยละ 8.72 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นเรื่องของภายในวัด ประชาชนไม่ควรเข้าไปยุ่งหรือก้าวก่ายมากจนเกินไป ซึ่งปกติวัดก็จะมีคณะกรรมการวัดที่มาจากตัวแทนผู้นำชุมชนต่าง ๆ อยู่แล้ว ยิ่งมากคนยิ่งมากความ หรือเสี่ยงต่อการเกิดการทุจริตมากขึ้น ควรให้หน่วยงานอื่น ๆ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือคณะสงฆ์ หรือพระชั้นผู้ใหญ่ ฝ่ายตรวจสอบบัญชีจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ที่เป็นหน่วยงานกลาง และไม่มีผลประโยชน์เข้ามาตรวจสอบแทน และเงินหรือทรัพย์สินที่ประชาชนได้บริจาคหรือทำบุญด้วยความเต็มใจ ทางวัดจะนำไปดำเนินกิจการใด ๆ ก็เป็นสิทธิ์ของวัด และร้อยละ 4.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการรายงานหรือเปิดเผยข้อมูลการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายทรัพย์สินของวัดให้แก่สาธารณชนได้ทราบ เพื่อความเป็นกลาง โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และเป็นที่ไว้วางใจของชุมชนและพุทธศาสนิกชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.24 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ประชาชนจะได้สบายใจและทราบว่า ทางวัดมีการนำเงินไปใช้ทำอะไรบ้าง มีรายรับ – รายจ่ายเป็นอย่างไร บางคนที่ทำบุญไปก็ต้องการให้เงินนั้นได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง และถือว่าเป็นทรัพย์สินของสาธารณะ เป็นการลดช่องโหว่มิให้กลุ่มผู้ที่ฉวยโอกาสเข้ามาทุจริต หากมีความชัดเจน หรือไม่มีผลประโยชน์อื่นใด ก็ควรที่จะเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งถือว่าวัดเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชุมชนที่ได้ให้ความศรัทธาและไว้ใจ อีกทั้งในปัจจุบันวัดส่วนใหญ่กลายเป็นพุทธพาณิชย์หรือเชิงธุรกิจไปแล้ว มีเพียง ร้อยละ 3.92 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะไม่จำเป็น ถือว่าเป็นเรื่องภายในของวัด ข้อมูลหรือรายละเอียดบางอย่างก็ไม่ควรเปิดเผย ทำให้เกิดความยุ่งยาก เป็นการสร้างภาระให้กับวัดมากเกินไป ควรปล่อยให้วัดดำเนินการ นอกจากนี้ยังเป็นการล่อแหลม ชักนำให้กลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาหวังประโยชน์จากทางวัด หากทราบว่าวัดมีเงินหรือทรัพย์สินจำนวนมาก และร้อยละ 5.84 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายทรัพย์สินของวัดจะสามารถช่วยลดการทุจริตเงินวัดในทางที่มิชอบได้ พบว่า ร้อยละ 38.40 ระบุว่า จะช่วยลดการทุจริตได้มาก ร้อยละ 38.80 ระบุว่า จะช่วยลดการทุจริตได้ค่อนข้างมาก ร้อยละ 1.76 ระบุว่า จะช่วยลดการทุจริตได้ปานกลาง ร้อยละ 12.56 ระบุว่า จะช่วยลดการทุจริตได้ค่อนข้างน้อย ร้อยละ 4.48 ร้อยละ 4.00 ระบุว่า ไม่สามารถช่วยลดการทุจริต ได้เลย และไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5