ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5
คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
วันที่อัพเดทล่าสุด : 26.03.2566
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 – 27 กรกฎาคม 2560 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับศาลควรมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย กรณีจำเลยไม่มาศาลหรือจับจำเลยไม่ได้ภายใน 3 เดือน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.54 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ถือว่าจำเลยมีเจตนาที่จะหลบหนีคดี หากรอให้จำเลยมาให้การ อาจใช้ระยะเวลานาน คดีไม่คืบหน้าจนหมดอายุความในที่สุด การพิจารณาคดีจะได้รวดเร็วขึ้น และศาลได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความยุติธรรมอยู่แล้ว รองลงมา ร้อยละ 25.58 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ศาลไม่ควรสรุปความหรือพิจารณาโดยไม่สอบถามจำเลย อาจเกิดความไม่ยุติธรรมแก่จำเลย ควรให้จำเลยได้มีโอกาสในการแก้ต่างในชั้นศาล ทั้งนี้ เป็นการให้อำนาจศาลมากเกินไป ร้อยละ 0.80 ระบุว่า ควรพิจารณาเป็นรายคดีไป และร้อยละ 4.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่าควรมีอายุความหรือไม่ (วันหมดอายุคดีความ) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.44 ระบุว่า ไม่ควรมีอายุความ เพราะเป็นการป้องกันจำเลยหลบหนีความผิดด้วยการออกนอกประเทศ และรอให้จนคดีหมดอายุความคนทำผิดควรรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองได้กระทำไว้ และจะได้ไม่ลอยนวล ขณะที่ ร้อยละ 47.96 ระบุว่า ควรมีอายุความ เพราะควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับคดีอาญาทั่วไปเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการทำงานให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยมีเวลาเป็นตัวกำหนด หากจำเลยไม่มีความผิดก็จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมสำหรับจำเลยไปตลอดชีวิต ร้อยละ 1.04 ควรพิจารณาเป็นรายคดีไป และร้อยละ 2.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อกฎหมายคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่าควรมีผลบังคับย้อนหลังหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.19 ระบุว่า ควรมีผลบังคับย้อนหลัง เพราะคดีเก่า ๆ หลายคดียังไม่ได้รับการสะสางหรือยังค้างคา ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศ กลุ่มนักการเมืองที่เคยทำผิดในอดีต จะได้ไม่ต้องลอยนวล และควรรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ควรมีการสร้างมาตรฐานใหม่ ๆ เพื่อไม่ให้นักการเมืองกระทำผิดเป็นแบบอย่างได้ รองลงมา ร้อยละ 26.78 ระบุว่า ไม่ควรมีผลบังคับย้อนหลัง เพราะไม่ถูกต้องตามหลักของกฎหมาย ทำให้เสียเวลาในการพิจารณาคดี และอาจเกิดความวุ่นวายตามมา ควรเข้มงวดกับคดีใหม่ ๆ ให้มากขึ้น ร้อยละ 2.72 ระบุว่า ควรพิจารณาเป็นรายคดีไป ขึ้นอยู่กับความผิดและความร้ายแรงของคดี และร้อยละ 4.31 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่าจะช่วยลดการทุจริตและลดการเอื้อประโยชน์แก่ส่วนตนหรือพวกพ้องได้มากน้อยเพียงใด พบว่า ประชาชน ร้อยละ 24.70 ระบุว่า ช่วยได้มาก เพราะเป็นการสร้างความเกรงกลัวให้กับนักการเมือง ทำให้นักการเมืองเกิดความยับยั้งชั่งใจที่จะกระทำความผิด และคิดว่ากฎหมายดังกล่าวน่าจะถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง และเข้มงวด ร้อยละ 54.20 ระบุว่า ช่วยได้ในระดับหนึ่ง เพราะเป็นมาตรการที่มีความชัดเจน นักการเมืองจะได้เกิดความเกรงกลัว โดยเฉพาะนักการเมืองที่มีทั้งเงินและอำนาจ ซึ่งจะเอื้อให้ตนเองพ้นความผิดได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถลดการทุจริตคอร์รัปชันได้ เพราะกฎหมายมักมีช่องโหว่ และมีช่องทางในการทุจริตที่หลากหลาย ร้อยละ 13.59 ระบุว่า ช่วยไม่ได้เลย เพราะการทุจริตคอร์รัปชันกลายเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน นักการเมืองมักเห็นผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีความเข้มงวดพอที่จะลงโทษนักการเมืองให้เห็นเป็นตัวอย่างได้ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และร้อยละ 7.51 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5