ผลสำรวจของนิด้าโพล

ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
  • 1

    ภาพลักษณ์ผู้สูงอายุไทย 2567

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 13 เม.ย. 2567

  • 2

    ยาบ้า 5 เม็ด กับ ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 07 เม.ย. 2567

  • 3

    ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ เบื่ออะไร

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 31 มี.ค. 2567

  • 4

    การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 1-2567

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 24 มี.ค. 2567

  • 5

    ฝ่ายค้าน จริงหรือเปล่า

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 17 มี.ค. 2567

ปฏิรูปตำรวจอย่างไรจึงจะได้ใจประชาชน

วันที่อัพเดทล่าสุด : 26.03.2566

คณะนิติศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปฏิรูปตำรวจอย่างไรจึงจะได้ใจประชาชน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 – 29 กรกฎาคม 2560 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,003 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจในระบบงานสืบสวนสอบสวน การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random  Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.1

 

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการแยกระบบงานสอบสวนออกจากตำรวจ เพื่อสร้างหลักประกันความเป็นอิสระและความยุติธรรมในการดำเนินคดีอาญาให้กับประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่  ร้อยละ 69.75 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นการแยกระบบงานจับกุมและงานสอบสวนออกให้เป็นสัดส่วน เช่นเดียวกับในบางประเทศที่ใช้ระบบดังกล่าว เป็นการช่วยลดภาระงานของตำรวจ และป้องกันการใช้อำนาจในการสอบสวนในทางที่ผิด สร้างความเชื่อมั่นในระบบงานสอบสวนมากขึ้น มีความโปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น และประชาชนต้องการเห็นแนวทางใหม่ ๆ ในการปฏิรูปตำรวจ รองลงมา ร้อยละ 24.31 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ การสืบสวนสอบสวนถือเป็นหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่าสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ดี เพราะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ หากแยกงานระบบสอบสวนออกไป อาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ล่าช้า และขาดความต่อเนื่อง ร้อยละ 0.55 ระบุว่า จะเป็นหน่วยงานใดสอบสวนก็ได้ แต่ขอให้เกิดความยุติธรรมกับทุก ๆ ฝ่าย และร้อยละ 5.39 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

 

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีที่มีโทษจำคุกเกินห้าปี หรือคดีที่มีการร้องเรียน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.83 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นการป้องกันการทุจริตในระบบงานสอบสวน เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย ที่อาจโดนยัดเยียดข้อกล่าวหาจนนำไปสู่การจับผู้ต้องหาผิดตัว ซึ่งอัยการเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านกฎหมาย มีความน่าเชื่อถือ เป็นการถ่วงดุลอำนาจ แบ่งการทำงาน ช่วยกันดูแลตรวจสอบ  และมีความเป็นกลางมากขึ้น ขณะที่ ร้อยละ 12.83 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ มีฝ่ายที่คอยตรวจสอบและควบคุมอยู่แล้ว อัยการมีภาระงานเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว อาจเกิดความซ้ำซ้อน อีกทั้งไม่มั่นใจในเรื่องของความโปร่งใส ความเป็นกลาง และประสบการณ์ในการควบคุมงานสอบสวนของอัยการ ร้อยละ 0.35 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับรูปคดี และควรพิจารณาเป็นรายคดีไป และร้อยละ 6.99 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

 

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกหมายเรียกบุคคลมาแจ้งข้อหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ ควรได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.61 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นการทำงานร่วมกันหลาย ๆ ฝ่าย กระบวนการต่าง ๆ จะได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชัดเจน ป้องกันการจับแพะ หรือการยัดเยียดคดีให้กับผู้ต้องหา เป็นการสร้างความโปร่งใสและความยุติธรรมให้กับผู้ต้องหามากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 29.15 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ กระบวนการต่าง ๆ อาจจะล่าช้า และยุ่งยากจนเกินไป อาจส่งผลเสียต่อรูปคดี เพราะบางคดีต้องใช้ความรวดเร็วในการออกหมายจับ และยังไม่เชื่อมั่นต่อการพิจารณาและการตัดสินใจของอัยการ ร้อยละ 0.65 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับรูปคดี และควรพิจารณาเป็นรายคดีไป และร้อยละ 7.59 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

 

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการให้มีการบันทึกภาพและเสียงการสอบปากคำบุคคลเป็นหลักฐานไว้ให้อัยการและศาลตรวจสอบได้เมื่อจำเป็นทุกคดี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นตามที่กำหนด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.31 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้มีหลักฐานเก็บไว้เพื่อการตรวจสอบ หลักฐานที่มีอยู่จะเป็นหลักฐานที่แท้จริง ไม่มีการบิดเบือน ในกรณีที่เกิดปัญหาการร้องเรียน เช่น การข่มขู่ผู้ต้องหา จะได้มีหลักฐานยืนยัน ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ต้องหาและเจ้าพนักงานสอบสวน เป็นการป้องกันความคลาดเคลื่อนของรูปคดี และสร้างมาตรฐานใหม่ในการสอบสวนหรือการให้ปากคำ ขณะที่ ร้อยละ 6.84 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ อาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป การสอบปากคำควรเป็นความลับ ทั้งนี้ผู้ต้องหาอาจถูกบังคับ หรือข่มขู่ให้พูดในสิ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตของผู้ให้ปากคำ กรณีหากมีข้อมูลรั่วไหลออกมา ร้อยละ 0.80 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับรูปคดี และควรพิจารณาเป็นรายคดีไป และร้อยละ 2.05 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
  • 1

    ภาพลักษณ์ผู้สูงอายุไทย 2567

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 13 เม.ย. 2567

  • 2

    ยาบ้า 5 เม็ด กับ ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 07 เม.ย. 2567

  • 3

    ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ เบื่ออะไร

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 31 มี.ค. 2567

  • 4

    การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 1-2567

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 24 มี.ค. 2567

  • 5

    ฝ่ายค้าน จริงหรือเปล่า

    วันที่อัพเดทล่าสุด : 17 มี.ค. 2567

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อาคารเสรีไทย เลขที่ 148 ถนนเสรีไทย
แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ
กรุงเทพมหานคร 10240

ติดต่อเรา

ฝ่ายโพลสาธารณะ :
02-727-3596
, 02-727-3028

ฝ่ายธุรกิจโพล :
02-727-3242
, 02-727-3618
, 02-727-3387

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ :
02-727-3089

โทรสาร :
02 727 3590

อีเมล : nida_poll@nida.ac.th

Copyright © 2020. All Rights Reserved. nidapoll.nida.ac.th