ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5
ความโปร่งใสยุติธรรมและความมั่นใจของประชาชนต่อระบบงานสอบสวนของตำรวจ
วันที่อัพเดทล่าสุด : 26.03.2566
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความโปร่งใสยุติธรรมและความมั่นใจของประชาชนต่อระบบงานสอบสวนของตำรวจ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 6 มีนาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความโปร่งใสยุติธรรมและความมั่นใจของประชาชนในระบบงานสอบสวนของตำรวจ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความโปร่งใสยุติธรรมของขั้นตอนการดำเนินคดีและระบบงานสอบสวนของตำรวจ พบว่า ร้อยละ 9.68 ระบุว่า มีความโปร่งใสยุติธรรมมาก เพราะ ทำตามระบบและขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างดี ร้อยละ 39.60 ระบุว่า ค่อนข้างมีความโปร่งใสยุติธรรม เพราะ มีระบบการทำงานที่ดี มีหลักฐานประกอบชัดเจน ร้อยละ 35.20 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความโปร่งใสยุติธรรม เพราะ เกิดความล่าช้า มีข้อผิดพลาดค่อนข้างบ่อย มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และใช้ระบบพวกพ้อง ร้อยละ 14.64 ระบุว่า ไม่มีความโปร่งใสยุติธรรมเลย เพราะ ประชาชนไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือมีส่วนร่วมในการสอบสวนได้ บางครั้งมีหลักฐานที่ไม่ชัดเจน ชอบยัดข้อหาให้กับคนจนถูกแทรกแซงการทำงานจากผู้มีอิทธิพล และเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และร้อยละ 0.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความมั่นใจต่อขั้นตอนการดำเนินคดีและระบบงานสอบสวนของตำรวจ พบว่า ร้อยละ 11.12 ระบุว่า มั่นใจมาก เพราะมีระบบขั้นตอนการทำงานที่ละเอียด ชัดเจน และตำรวจทำหน้าที่ดีอยู่แล้ว ร้อยละ 37.20 ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ เพราะ มีระบบการทำงานที่ค่อนข้างละเอียดอยู่แล้ว ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และหลักฐานที่มี ร้อยละ 40.56 ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะ มีการใช้ระบบพวกพ้องมีผู้มีอิทธิพลเข้ามาแทรกแซงการทำงาน และมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ร้อยละ 10.72 ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย เพราะ มีอำนาจของเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง คนรวยมักหลุดพ้นคดี และร้อยละ 0.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงแนวทางในการปรับปรุงงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.52 ระบุว่า ควรมีการบันทึกเสียงและภาพในระหว่างการสอบสวน เพื่อลดความผิดพลาดและเพิ่มความโปร่งใส รองลงมา ร้อยละ 26.24 ระบุว่า ส่งเสริมด้านการมีจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ ร้อยละ 20.00 ระบุว่า กระจายอำนาจการสอบสวนไปให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อช่วยลดปริมาณงานของพนักงานสอบสวน ทำให้การสอบสวนคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ร้อยละ 17.36 ระบุว่า ให้พนักงานอัยการมีบทบาทในกระบวนการสอบสวนคดีอาญาร่วมกับพนักงานสอบสวน ร้อยละ 15.36 ระบุว่า ควรให้หน่วยงานภายนอกหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ร้อยละ 15.28 ระบุว่า แยกหน่วยงานสอบสวนออกจากตำรวจ ร้อยละ 13.84 ระบุว่า ออกกฎหมาย ที่รับรองความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวนไม่ให้ถูกแทรกแซง ร้อยละ 6.48 ระบุว่า เพิ่มบุคลากรด้านงานสอบสวนและงบประมาณให้เพียงพอ ร้อยละ 1.84 อื่น ๆ ได้แก่ พัฒนาระบบงานสอบสวนให้มีความรวดเร็วมากกว่านี้ เพิ่มทักษะให้ตำรวจ เช่น ความรู้ด้านกฎหมาย เรื่องคดีความให้หาข้อมูลในการสอบสวน ลงพื้นที่ หาพยานหลักฐานเพิ่มมากขึ้น ลดอำนาจของตำรวจลง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ระบบงานสอบสวนดีอยู่แล้ว และไม่มีทางแก้ไขได้ และร้อยละ 2.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5