ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5
“คนแก่” ในความคิดของคนไทย
วันที่อัพเดทล่าสุด : 26.03.2566
เนื่องในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ตรงกับวันผู้สูงอายุ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ร่วมกับ ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ (Center for Aging Society Research – CASR) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คนแก่” ในความคิดของคนไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20 – 21 มีนาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคนแก่ ในความคิดของคนไทย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงสัญญาณ/สิ่งที่บ่งชี้ว่าคนคนนั้น คือ คนแก่ หรือ คนชรา เมื่อพิจารณาจำแนกตามช่วงกลุ่มอายุ (5 อันดับแรก) พบว่า กลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ส่วนใหญ่เห็นว่าสัญญาณ/สิ่งที่บ่งชี้ว่า คนคนนั้น คือ คนแก่ หรือ คนชรา อันดับ 1 ร้อยละ 47.78 ระบุว่า เมื่อพบว่าสุขภาพของเขาเสื่อมลง/เลวลง รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 34.85 ระบุว่า เมื่ออายุย่างเข้า 65 ปี อันดับ 3 ร้อยละ 20.89 ระบุว่า เมื่ออายุย่างเข้า 75 ปี อันดับ 4 ร้อยละ 19.44 ระบุว่า เมื่อเกิดลืมชื่อที่คุ้นเคยบ่อย ๆ (มักจะนึกชื่อคนรู้จักไม่ออกบ่อย ๆ) และอันดับ 5 ร้อยละ 17.58 ระบุว่า เมื่อเกษียณงาน (หยุดทำงาน) สำหรับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 59.36 ระบุว่า เมื่อพบว่าสุขภาพของเขาเสื่อมลง/เลวลง รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 31.45 ระบุว่า เมื่ออายุย่างเข้า 65 ปี อันดับ 3 ร้อยละ 28.27 ระบุว่า เมื่อมีปัญหาในการขึ้นบันได อันดับ 4 ร้อยละ 27.92 ระบุว่า เมื่อเกิดลืมชื่อที่คุ้นเคยบ่อย ๆ (มักจะนึกชื่อคนรู้จักไม่ออก บ่อย ๆ) และอันดับ 5 ร้อยละ 16.96 ระบุว่า เมื่อเกษียณงาน (หยุดทำงาน)
ซึ่งจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ทั้ง 2 กลุ่มอายุ มีความเห็นว่า สัญญาณ/สิ่งที่บ่งชี้ว่า คนคนนั้น คือ คนแก่ หรือ คนชรา คือ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพและความทรงจำ ผู้ที่มีอายุย่างเข้า 65 ปี และผู้ที่มีสถานภาพทางครอบครัวสูงขึ้น (มีหลาน) เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างของความคิดเห็น พบว่า ความคิดเห็นของกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีสัดส่วนสูงกว่าของกลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ที่คิดว่าสัญญาณ/สิ่งที่บ่งชี้ว่า คนคนนั้น คือ คนแก่ หรือ คนชรา คือ เมื่อพบว่าสุขภาพของเขาเสื่อมลง/เลวลง เมื่อมีปัญหาในการขึ้นบันได เมื่อเกิดลืมชื่อที่คุ้นเคยบ่อย ๆ (มักจะนึกชื่อคนรู้จักไม่ออกบ่อย ๆ) เมื่ออายุย่างเข้า 85 ปี เมื่อมีหลาน (ตา-ยาย/ปู่-ย่า) และเมื่อไม่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างอิสระ (ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น) ในขณะที่ความคิดเห็นของกลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ที่มีสัดส่วนสูงกว่าของกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่คิดว่าสัญญาณ/สิ่งที่บ่งชี้ว่า คนคนนั้น คือ คนแก่ หรือ คนชรา คือ เมื่ออายุ ย่างเข้า 65 ปี เมื่อเกษียณงาน (หยุดทำงาน) เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมการปัสสาวะ และเมื่อไม่อยากมีเซ็กส์
เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับ สิ่งที่ไม่ดี เมื่อแก่แล้ว คืออะไร (5 อันดับแรก) พบว่า กลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ส่วนใหญ่ เห็นว่าสิ่งที่ไม่ดี อันดับ 1 ร้อยละ 58.53 ระบุว่า เจ็บป่วยหนัก รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 55.53 ระบุว่า ความจำเสื่อม อันดับ 3 ร้อยละ 32.37 ระบุว่า เป็นภาระ (ต่อลูกหลาน/ครอบครัว/สังคม) อันดับ 4 ร้อยละ 29.37 ระบุว่า ซึมเศร้า และอันดับ 5 ร้อยละ 27.82 ระบุว่า เหงา สำหรับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 53.00 ระบุว่า ความจำเสื่อม และเจ็บป่วยหนัก ในสัดส่วนที่เท่ากัน รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 25.09 ระบุว่า เหงา อันดับ 3 ร้อยละ 22.26 ระบุว่า เซ็กส์เสื่อม อันดับ 4 ร้อยละ 21.55 ระบุว่า เป็นภาระ (ต่อลูกหลาน/ครอบครัว/สังคม) และอันดับ 5 ร้อยละ 19.43 ระบุว่า ซึมเศร้า
ซึ่งจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ทั้ง 2 กลุ่มอายุมีความเห็นว่า สิ่งที่ไม่ดี เมื่อแก่แล้ว คือ การเจ็บป่วย ความจำเสื่อม เป็นภาระ ซึมเศร้า เหงา รู้สึกถูกทอดทิ้ง/ไม่มีความสำคัญ เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างของความคิดเห็น พบว่า ความคิดเห็นของกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนน้อยกว่าของกลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ในขณะที่ความคิดเห็นของกลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ที่มีสัดส่วนสูงกว่าของกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่คิดว่าสิ่งที่ไม่ดี เมื่อแก่แล้ว คือ เจ็บป่วยหนัก ความจำเสื่อม เป็นภาระ (ต่อลูกหลาน/ครอบครัว/สังคม) ซึมเศร้า เหงา รู้สึกถูกทอดทิ้ง/ไม่มีความสำคัญ เซ็กส์เสื่อม
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับ สิ่งที่ดี เมื่อแก่แล้ว คืออะไร (5 อันดับแรก) พบว่า กลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ส่วนใหญ่ เห็นว่าสิ่งที่ดี อันดับ 1 ร้อยละ 66.80 ระบุว่า มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 45.60 ระบุว่า มีเวลามากขึ้นสำหรับทำสิ่งที่สนใจ/งานอดิเรก อันดับ 3 ร้อยละ 38.88 ระบุว่า ได้รับความนับถือมากขึ้น อันดับ 4 ร้อยละ 31.85 ระบุว่า ท่องเที่ยวได้มากขึ้น และอันดับ 5 ร้อยละ 29.06 ระบุว่า มีความเครียดน้อยลง สำหรับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 68.90 ระบุว่า มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 46.29 ระบุว่า มีเวลามากขึ้นสำหรับทำสิ่งที่สนใจ/งานอดิเรก อันดับ 3 ร้อยละ 45.58 ระบุว่า ได้รับความนับถือมากขึ้น อันดับ 4 ร้อยละ 37.81 ระบุว่า มีความเครียดน้อยลง และอันดับ 5 ร้อยละ 31.10 ระบุว่า ทำงานอาสาสมัคร/จิตอาสาได้
ซึ่งจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ทั้ง 2 กลุ่มอายุมีความเห็นว่า สิ่งที่ดี เมื่อแก่แล้ว คือ การมีเวลากับครอบครัวมากขึ้น ทำสิ่งที่สนใจหรืองานอดิเรก ได้รับความนับถือมากขึ้น ท่องเที่ยวได้มากขึ้น มีความเครียดน้อยลง ทำงานอาสาสมัคร/จิตอาสาได้และมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างของความคิดเห็น พบว่า ความคิดเห็นของกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีสัดส่วนสูงกว่าของกลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ที่คิดว่า สิ่งที่ดี เมื่อแก่แล้ว คือ การมีเวลากับครอบครัวมากขึ้น มีเวลามากขึ้นสำหรับทำสิ่งที่สนใจ/งานอดิเรก ได้รับความนับถือมากขึ้น มีความเครียดน้อยลง ทำงานอาสาสมัคร/จิตอาสาได้ และมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น ในขณะที่ความคิดเห็นของกลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ที่มีสัดส่วนสูงกว่าของกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่คิดว่า สิ่งที่ดี เมื่อแก่แล้ว คือ การท่องเที่ยวได้มากขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุ ที่คิดว่า ได้รับความนับถือมากขึ้น มีความเครียดน้อยลง ทำงานอาสาสมัคร/จิตอาสาได้ และมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น มีสัดส่วนมากกว่าผู้ที่ยังไม่สูงอายุอย่างแตกต่างกันมาก
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงระดับความสุข เมื่อเป็นคนแก่ หรือ คนชรา พบว่า กลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ร้อยละ 33.09 ระบุว่า มีความสุขมาก ร้อยละ 46.43 ระบุว่า มีความสุขค่อนข้างมาก ร้อยละ 15.82 ระบุว่า มีความสุขค่อนข้างน้อย ร้อยละ 1.76 ระบุว่า ไม่มีความสุขเลย และร้อยละ 2.90 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ สำหรับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 34.98 ระบุว่า มีความสุขมาก ร้อยละ 45.23 ระบุว่า มีความสุขค่อนข้างมาก ร้อยละ 14.13 ระบุว่า มีความสุขค่อนข้างน้อย ร้อยละ 5.30 ระบุว่า ไม่มีความสุขเลย และร้อยละ 0.35 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ซึ่งจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ทั้ง 2 กลุ่มอายุมีความเห็นว่า ระดับความสุข เมื่อเป็นคนแก่ หรือ คนชรา คือ จะมีความสุขในระดับค่อนข้างมากถึงมาก (ประมาณ 80 % ของผู้ตอบในแต่ละกลุ่มอายุ) เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างของความคิดเห็น พบว่า ความคิดเห็นของกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีสัดส่วนสูงกว่าของกลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ที่คิดว่า ระดับความสุข เมื่อเป็นคนแก่ หรือ คนชรา คือ ไม่มีความสุขเลย
ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5