ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5
โซเชียลมีเดีย (Social Media) กับการเลือกตั้งปี 2562
วันที่อัพเดทล่าสุด : 26.03.2566
.......ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “โซเชียลมีเดีย (Social Media) กับการเลือกตั้งปี 2562” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29 – 30 พฤศจิกายน 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,252 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียของประชาชนในการติดตามข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งปี 2562 รวมถึงผลการใช้โซเชียลมีเดียกับการตัดสินใจในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
.......จากการสำรวจ เมื่อถามถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารของผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองของการเลือกตั้งปี 2562 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.92 ระบุว่า ไม่ได้ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย และร้อยละ 23.08 ระบุว่า ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย
.......เมื่อถามถึงช่องทางของผู้ที่ติดตามข้อมูลข่าวสารผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองของการเลือกตั้งปี 2562 ผ่านโซเชียลมีเดีย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.24 ติดตามผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook), แฟนเพจ รองลงมา ร้อยละ 44.29 ติดตามผ่านไลน์ (Line) ร้อยละ 24.22 ติดตามผ่านยูทูป (Youtube) ร้อยละ 5.88 ติดตามผ่านอินสตาแกรม (Instagram) และร้อยละ 5.54 ติดตามผ่านทวิตเตอร์ (Twitter)
.......ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนต่อข้อมูลการเลือกตั้งปี 2562 จากโซเชียลมีเดียว่าเป็นจริงทุกข้อมูล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.18 ระบุว่า เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้างว่าเป็นจริงทุกข้อมูล รองลงมา ร้อยละ 33.15 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นว่าเป็นจริงทุกข้อมูล ร้อยละ 4.79 ระบุว่า เชื่อมั่นว่าเป็นจริงทุกข้อมูล และร้อยละ 0.88 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
.......สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผลของโซเชียลมีเดียต่อการตัดสินใจในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือเลือกพรรคการเมืองในการเลือกตั้งปี 2562 พบว่า ประชาชน ร้อยละ 19.57 ระบุว่า มีผลมาก ร้อยละ 37.22 ระบุว่า มีผลค่อนข้างมาก ร้อยละ 25.32 ระบุว่า มีผลค่อนข้างน้อย ร้อยละ 17.17 ระบุว่า ไม่มีผลเลย และร้อยละ 0.72 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
.......ท้ายที่สุด เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการให้พรรคการเมืองสามารถหาเสียงเลือกตั้งผ่านโซเชียลมีเดีย (Social Media) ได้อย่างเสรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.62 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 36.50 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 2.80 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุ
ผลการสำรวจโพลประจำสัปดาห์
-
1
-
2
-
3
-
4
-
5